แค่การเก็บเงิน ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ใคร ๆ ก็ทำได้ ซึ่งคุณคงจะเคยได้ยินประโยคจากผู้ใหญ่ว่าให้เก็บเงินไว้ใช้ในยามขับขันบ้าง แต่เวลาผ่านไปนานแค่ไหนไม่รู้ รู้แต่ว่าวางแผนเก็บเงินทีไร แผนล่มตลอด พังไม่เป็นท่า ไม่ว่าจะวางแผนใหม่กี่ครั้งก็ไปไม่รอดสักคร้ัง หรือแม้กระทั่งใช้ไม้แข็งด้วยการเปิดบัญชีประจำกันไปเลยเพื่อบังคับให้ตัวเองเก็บเงิน สุดท้ายก็ล้มเหลว…

เริ่มจากการสังเกตุพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองเป็นอย่างแรก มองให้ขาดว่าสิ่งไหนที่เป็นกิเลส กระทบต่อใจและกระเป๋าตังค์ของเรามากที่สุด หากเลี่ยงได้ก็ต้องเลี่ยง ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์ถังแตกช่วงปลายเดือน คุณอาจจะลองวางแผนวิธีการเก็บเงินได้ตามนี้

1. คำนวณรายรับและรายจ่ายให้เบ็ดเสร็จ

สิ่งสำคัญก่อนการวางแผนทุกสิ่งคุณต้องรู้ว่าที่ตัวคุณนั้นมีทรัพยากรอยู่เท่าไหร่ ทรัพยากรในที่นี้ หมายถึง ‘เงิน’ คำนวณเงินที่คุณได้รับจากเดือนเบ็ดเสร็จแล้วเป็นจำนวนเท่าไหร่ และคำนวณค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ที่จำเป็นต้องจ่ายให้ตรงเวลาไว้ให้พร้อม เช่น ค่าที่พัก ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ -ไฟ และค่าเดินทาง

2. สร้างสมการเงินเหลือ

ทำไมถึงต้องสร้างสมการและสมการในที่นี้คืออะไร?

สมการในที่นี้คือรายรับ – รายจ่าย = เงินคงเหลือ

เมื่อเราทราบถึงเงินคงเหลือแต่ละเดือนแล้ว เงินก้อนนั้นแหละจะเป็นกุญแจสำคัญในการวางแผนเก็บเงินต่อไป

3. หักลบ 10-30 % ของเงินคงเหลือหรือเงินเดือนเป็นเงินเก็บ

หลายคนอาจจะเลือกทาง หักเปอร์เซ็นต์จากเงินเดือนเป็นเงินเก็บเลยทีเดียว สำหรับการใช้ชีวิตที่ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายไม่ได้สูงมากอาจจะทำได้ แต่สำหรับเรทในเมืองหลวง ขอให้เลี่ยงเป็นหักจากเงินคงเหลือแทน เช่น เงินเดือน 15,000 – รายจ่าย 7,000 = คงเหลือ 8,000 หักเป็นเงินก็บ 20% เท่ากับเหลือใช้ 6,400 บาท

4. เปิดบัญชีสำหรับเก็บเงินโดยเฉพาะ และไม่ทำบัตร ATM

เมื่อได้ตัวเลขเงินที่จะเก็บแล้ว ก็ต้องมีช่องทางการเก็บเงินเช่นกัน การฝากบัญชีประจำอาจจะไม่ตอบโจทย์ชีวิตที่ไม่มีความแน่นอน เพราะคุณจะไม่สามารถถอนเงินได้จนกว่าจะครบตามระยะเวลา ดังนั้น เมื่อมีเหตุฉุกเฉินอาจจะดึงเงินส่วนนี้ออกมาใช้ไม่ได้ ดังนั้น การเปิดบัญชีแยกสำหรับการเก็บเงินโดยเฉพาะ และไม่ทำบัตรกดเงิน หรือ ATM ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

5. แบ่งเงินส่วนหนึ่งมาลงทุน

การลงทุนที่ดีไม่ใช่การซื้อหวยเพราะนั่น เรียกว่าเป็นการชิงโชคแบบ 1 ในล้าน เปอร์เซ็นตท์ที่คุณจะถูกรางวัลช่างน้อยนิด หากเปลี่ยนมาใช้การลงทุนแบบ ‘สลากออมสิน’ ได้ทั้งลุ้น และได้ทั้งสะสมเงิน หากถูกรางวัลก็ถือเป็นโชคดีได้กำไร หากไม่ถูกรางวัลก็ถือว่าเท่าทุน เงินที่เสียไปยังคงเก็บได้ แต่ถ้าเล่นหวย ไม่ถูกก็เสียเงินไปเลยฟรี ๆ

6. สร้าง Mission เก็บเงินสนุก ๆ

หากอยากมีเงินเก็บเพิ่มสักนิดระหว่างเดือน เพื่อเป็นการให้รางวัลกับตัวเองบ้างขอให้คุณลองหาวิธีสนุก ๆ ในการเก็บเงิน เช่น หากได้รับแบงค์ 50 มาให้เก็บ หรือ เก็บเหรียญ เพื่อไม่ให้ตึงจนเกินไปอย่าลืมให้รางวัลตัวเองด้วยล่ะ อาจเป็นบุฟเฟ่ต์ดี ๆ สักมื้อหรือเสื้อที่ชอบสักตัว

วินัยในการออม หรือการวางแผนการเก็บเงินนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว คนอื่นทำตามแผน A แล้วรุ่ง แต่คุณทำแล้วร่วง ดังนั้น เบื้องต้นขอให้เริ่มศึกษาพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง และสภาพแวดลอ้อมที่ส่งผลต่อการใช้เงินของคุณ และปรับให้สูตรการเก็บเงินนั้นเป็นสูตรเพื่อคุณโดยเฉพาะ